ระวังเสียรู้กับการโฆษณาอาหารเกินจริงส่งผ่านจดหมาย อิเล็คทรอนิคส์
ยุคนี้การติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางสื่อสารที่ใช้กันมาก จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างใดที่วันดีคืนดี จะมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพส่งมาถึงเรา หากไม่สนใจก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หลายท่านมักจะสะดุดกับข้อความโฆษณาที่เรียกความสนใจเป็นอย่างดี ที่พบปัญหาร้องเรียนกันมากคือ ผลิตภัณฑ์อาหารโฆษณาสรรพคุณในทางบำบัดรักษาโรค โดยมีการเอ่ยถึงยี่ห้อ สรรพคุณ ประโยชน์ของอาหารที่เกินจริง อย่างเปิดเผย เช่น เป็นอาหารที่ช่วยซ่อมแซมและขจัดสารพิษของร่างกาย ลดความดันโลหิต หรือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการป้องกัน และช่วยรักษาโรค อาทิ โรคปวดตามข้อ ข้ออักเสบ การติดเชื้อต่าง ๆ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก มะเร็ง ปัญหาโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น รวมถึงมีการระบุว่าผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าประโยชน์ สรรพคุณที่ระบุอยู่ในโฆษณานั้น ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่าสามารถเกิดผลได้จริงตามคำโฆษณา แต่แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเพียงแต่ได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้จำหน่ายเป็นอาหารได้เท่านั้น แต่ในเรื่องการโฆษณาไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด จึงใคร่ขอเตือนผู้บริโภคให้ระวังการโฆษณาอาหารลักษณะดังกล่าวด้วย เพราะการตรวจสอบเอาผิดกระทำได้ยาก เนื่องจากการโฆษณามีเพียงชื่อเล่น และเบอร์โทรศัพท์ของผู้โฆษณาเท่านั้น หากพบผลิตภัณฑ์อาหารใดโฆษณาสรรพคุณ คุณภาพ ประโยชน์ในทางบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ ผ่านทางสื่อใดก็ตาม ไม่ว่าจะโฆษณาขายตรง วิทยุ แผ่นพับ เอกสารประกอบการขาย หรือแม้แต่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ควรเชื่อถือเด็ดขาด ท่านใดพบเห็นการกระทำผิดดังกล่าวขอได้โปรดแจ้งเบาะแสมาได้ที่ สายด่วน อย. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง