อันตรายในอาหารปนเปื้อนจุลินทรีย์


อันตรายในอาหารปนเปื้อนจุลินทรีย์

จุลินทรีย์ในอาหารเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งจะต้องป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนอาหารเพื่อให้ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย
โรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ มี 2 แบบ คือ
- เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเข้าไป และจุลินทรีย์เหล่านี้จะเข้าไปเจริญเติบโตหรือสร้างสารพิษในร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยได้ จุลินทรีย์ในส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Enterobacteriaceae เช่น Samonella spp. Escherichia coli, Shigella spp. และ Yersinia enterocolitica
- เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษที่เชื้อจุลินทรีย์สร้างขึ้นไว้ในอาหารอยู่แล้ว เมื่อบริโภคเข้าไปก็จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น เช่น Staphylococcus aureus, Clostridium botulinum
 
อาการที่เกิดจากโรคอาหารเป็นพิษโดยทั่วไปอาการที่เกิดจากโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อจุลินทรีย์มักเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรืออาจมีอาการอาเจียน ความรุนแรงและความเฉียบพลันของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของเชื้อจุลินทรีย์หรือสารพิษที่อยู่ในอาหาร
 
 ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร1. รักษาความสะอาด โดยล้างมือทุกครั้งก่อนจับอาหาร ระหว่างการเตรียมอาหาร หลังออกจากห้องน้ำ ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เตรียมอาหาร และพื้นครัว
2. แยกอาหารสดออกจากอาหารที่ปรุงสุกแล้วเสมอ เพราะอาจมีการถ่ายเทเชื้อจุลินทรีย์จากอาหารดิบไปสู่อาหารสุกในขณะปรุงอาหารหรือเก็บอาหารได้
3. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง โดยใช้ความร้อนไม่น้อยกว่า 70 ?c
4. เก็บรักษาอาหารไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วที่อุณหภูมิน้อยกว่า 5 ?c หรือมากกว่า 60 ?c และไม่ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องเกินกว่า 2 ชั่วโมง ส่วนอาหารสด เช่น พืชผัก ผลไม้ เก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่เกินกว่า 10๐c ส่วนเนื้อสัตว์ เก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่เกินกว่า 4๐c
5. ใช้น้ำสะอาดและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร โดยเลือกอาหารสดที่มีคุณภาพ