เอนเทอโรแบคเตอร์ ซากาซากี น่ากลัว แต่ไม่ต้องกลัว ถ้า...
ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา มีข่าวที่สร้างความอกสั่นขวัญหายกับบรรดาคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย ไม่ใช่ใครคอยลักเด็กไปกินหรือเอาไปทำน้ำมันพรายหรอก แต่เป็นการพบเชื้อเอนเทอโรแบคเตอร์ ซากาซากี (Enterobacter sakazakii) ในนมผงสูตรสำหรับทารก ซึ่งเคยเป็นข่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเด็กที่ติดเจ้าเชื้อนี้ จะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ โลหิตเป็นพิษ ลำไส้และกระเพาะอักเสบ จนเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างนี้ไม่กลัว ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว
มาทำความรู้จักกับเชื้อเอนเทอโรแบคเตอร์ ซากาซากี
เจ้าเชื้อชื่อเป็นฝรั่งผสมญี่ปุ่นนี้ รูปร่างเป็นท่อนตรงหรือท่อนโค้ง หายใจทั้งแบบใช้และไม่ใช้ออกซิเจน เป็นแบคทีเรียในสกุล Enterobacteriaceae ซึ่งในสกุลนี้มีแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ที่พบในลำไส้ของคนและสัตว์ รวมทั้งในสิ่งแวดล้อม และมักก่อให้เกิดโรคอย่างที่กล่าวในเด็กทารก ถึงจะมีการระบาดไม่มาก แต่ก็ทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่ 20% ถึงมากกว่า 50% แหล่งของเชื้อตัวนี้ ก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก พบได้ในธรรมชาติแวดล้อม รวมทั้งในลำไส้ของคน น่าจะเป็นแขกที่มาเยี่ยมเป็นครั้งเป็นคราว และยังพบในลำไส้ของสัตว์ เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นที่ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูิิมิร่างกายยิ่งชอบใหญ่ มีการตรวจพบเชื้อเอนเทอโรแบคเตอร์ ซากาซากี ในอาหารอื่นๆ บ้าง แต่ที่พบมีการระบาดก็พบว่าเชื่อมโยงกับนมผงสำหรับทารกนี่แหละ โดยน่าจะมีการปนเปื้อนได้ 3 ทาง คือ ปนเปื้อนไปกับวัตถุดิบ ปนเปื้อนไปกับนมผงหรือส่วนผสมอื่นๆ ภายหลังการพาสเจอไรส์ และปนเปื้อนขณะเตรียมนมให้ลูกน้อย
ใครเสี่ยงกับเชื้อนี้บ้าง
จากรายงานการได้รับเชื้อ พบว่า เด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และที่มีความเสี่ยงที่สุดเห็นจะเป็นทารกที่เกิดใหม่ ช่วง 28 วันแรก โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ หรือทารกที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง ซึ่งทารกที่กล่าวจะมีปัญหาการดื่มนมแม่ ต้องเลี้ยงด้วยนมผงสำหรับทารก แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจครับ ที่อังกฤษเขามีการสำรวจตั้งแต่ปี 1961 ถึงปี 2003 รวมแล้วก็ 42 ปี พบเด็กที่ป่วยจากเชื้อนี้แค่ 48 ราย ของ US FoodNet เขาก็ทำการสำราจในปี 2002 พบทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ได้รับเชื้อเพียง 1 ต่อ 100,000 คน
จะป้องกันหรือลดความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร
วิธีที่ดีที่สุดบอกได้เลยครับ นมแม่ เลี้ยงลูกด้วย นมแม ่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด แต่สำหรับทารกในกลุ่มที่ได้กล่าว มีปัญหาไม่สามารถเลี้ยงด้วนมแม่ได้ อาจเพราะต้องอยู่ภายใต้การดูแลเป็นพิเศษหรือคุณแม่มีปัญหาเรื่องน้ำนม จำเป็นต้องเลี้ยงด้วยนมผงสำหรับทารก ก็ขอให้ทำความเข้าใจไว้เลยครับว่า นมผงสูตรสำหรับทารกนั้นไม่ใช่อาหารที่ปราศจากเชื้อ รู้อย่างนี้แล้วอย่าไปโทษไปว่าผู้ผลิตเลยว่าทำไมไม่ทำให้ปราศเชื้อ เขาพยายามเต็มที่แล้วครับ แต่ในกระบวนการผลิตนั้น แม้ตัวนมผงจะผ่านการฆ่าเชื้อ 100% แต่มาในช่วงที่ต้องเติมสารอาหาร พวกแร่ธาตุ วิตามิน เขาต้องเติมขณะที่เย็นๆ ครับ ก็มีโอกาสที่จะมีการปนเปื้อนได้ แต่แม้จะมีเชื้ออยู่บ้าง เชื้อก็ไม่สามารถจะเจริญเติบโตได้ เพราะสภาพแวดล้อมภายในกระป๋องไม่เหมาะสม แม้จะมีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ก็ตาม ก็มันแห้งไงครับ ส่ิงมีชีวิตต้องการน้ำสำหรับการยังชีพเหมือนกัน
ปัญหาจะมาเกิดตอนที่ชงนมให้ลูกรักนี่แหละ ถ้าชงเสร็จแล้วตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง บ้านเราก็เอา 30 องศาเซลเซียส เป็นเกณฑ์ พอได้น้ำได้ท่า สภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อ 1 ตัว จะแบ่งเป็น 2 ตัวใน 20 นาที 40 นาที กลายเป็น 4 ตัว ดูน้อยใช่ไหมครับ ถ้าทิ้งไว้สัก 5 ชั่วโมง มันจะกลายเป็น 3 หมื่นตัว เขาถึงบอกว่าถ้าชงแ้ล้วทิ้งไว้ 5 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิห้อง ความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 30 เท่า แล้วทราบไหมครับว่าถ้าทิ้งต่อไปอีกซักแค่ 2 ชั่วโมง จะเป็นอย่างไร เชื้อจะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 2 ล้านกว่าตัวครับ
วิธีชงนมที่ถูกต้อง คือ ต้มน้ำให้เดือด ทิ้งให้น้ำอุ่นลงเหลือสัก 40 องศาเซลเซียส แล้วค่อยชง จากนั้นให้ลูกน้อยดื่มทันที ถ้าดื่มไม่หมด ทิ้งไปดีที่สุดครับ อย่าเสียดาย ที่สำคัญ อุปกรณ์การชง รวมทั้งขวดนม ต้องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อให้ดี มือคนชงเองก็ต้องล้างให้สะอาดด้วย บางคนบอกใช้น้ำเดือดชงเลย ปลอดภัยที่สุด ก็ปลอดภัยดีครับ แต่สารอาหารต่างๆ คงจะถูกทำลายไปเยอะเพราะความร้อนนั้น ถ้าคิดว่าไม่มีเวลาต้องมาชงแต่ละครั้ง หลังจากชงเสร็จให้นำเข้าตู้เย็นโดยทันที เวลาจะให้ลูกน้อยดื่มก็เอาขวดนมมาแช่น้ำร้อนสักเล็กน้อย ให้นมอุ่นสักหน่อย
นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เชื้อเจริญเติบโตได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าอยู่ในอุณหภูิมิที่เหมาะสม ดังนั้น ชงนมเสร็จ ควรให้ทารกดื่มทันที ยิ่งปล่อยให้อยู่ที่อุณหภูิมิห้องสั้นที่สุดได้เท่าไร ยิ่งปลอดภัยและไม่เพียงปลอดภัยจากเจ้าเอนเทอโรแบคเตอร์ ซากาซากี เท่่านั้น แต่รวมถึงเชื้ออื่นๆ ด้วย